วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สุพรรณบุรี ตลาดสามชุก ตลาด 100ปี

ตลาด 100 ปี




ถึงนามสามชุกถ้า ป่าดง
เกรียงไร่ได้พ่ายลง แลกล้ำ
เรือค้าเท่านั้นคง คอยเกรียงเรียงเอย
รายจอดทอดท่าน้ำ นับฝ้ายขายของ
( จากโครงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ )

จากคำประพันธ์ที่ยกมานี้ แสดงว่าสามชุกนั้นมีมาก่อน พ.ศ. 2379 กว่า 100 ปีที่ผ่านมา ตลาดสามชุกคือ จุดแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวเรือและพวกชาวกะเหรี่ยง ลาว ละว้า ที่อาศัยอยู่แถบตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน สินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยนจากชาวเรือ เช่น เกลือ ปูน ส่วนชาวบ้านก็จะนำพืชผลจากป่า เช่น ข้าว ฝ้าย แร่ ไม้ฝาง หนังสัตว์ ชันช่อ น้ำมันยาง สมุนไพร ฯลฯ จุดแลกเปลี่ยนนั้นอยู่ที่บ้านท่ายางบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามวัดสามชุก ต่อมามีผู้มาตั้งบ้านเรือนร้านค้าที่บ้านสามเพ็ง ( ตลาดสามชุกปัจจุบัน ) มากขึ้น ๆ จนทำให้จุดแลกเปลี่ยนสินค้าที่บ้านท่ายางต้องเลิกราไป สามเพ็งจึงกลายเป็นตลาดที่มีการซื้อขายสินค้าแทน สามชุก…สีชุก…กระชุก…ความหมายคือภาชนะขนาดใหญ่สานจากไม้ไผ่สำหรับใส่สิ่งของ เช่น ข้าว ฝ้าย เป็นรูป “ ฟักตัด ” ลองนึกถึงรูปฟักผ่าครึ่งแล้วตั้งขึ้น หรือผ่าตามยาวแล้ววางนอนลง วางซ้อนกันบนเกวียน ใช้รถบรรทุกข้าวเปลือกได้ครั้งละ 100 ถัง นี่คืออีกนับหนึ่งของที่มาชื่อสามชุก แต่คำว่า “ สามเพ็ง ” ซึ่งปรากฏในนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งในปี พ.ศ. 2379 ปรากฏขึ้นก่อนจะมีตลาดริมน้ำ วึ่งเป็นชุมชนใหญ่แหล่งค้าขายที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ข้าว ฝ้าย และถ่าน ชาวจีนเรียกตลาดนี้ว่า “ ซัมเพ็ง ” กว่า 50 ปีที่ตลาดสามชุก เป็นศูนย์รวมของการคมนาคมทางน้ำที่ใหญ่เป็นรองเฉพาะอำเภอเมืองเท่านั้น ประชาชนจากอำเภอสามชุก หนองหญ้าไทร ด่านช้าง จะมาลงเรือ ขึ้นเหนือล่องใต้ จะมีเรือบริษัทสุพรรณขนส่ง จำกัด ( เรือสีเลือดหมู ) และเรือแดงที่วิ่งระยะยาว ขึ้นเหนือไปทางประตูน้ำท่าโบสถ์ จังหวัดชัยนาท และล่องใต้ไปกรุงเทพฯ มีเรือแท็กซี่วิ่งรับส่งคนระยะสั้น ๆ เรือขนส่งสินค้าจะจอดรายเรียงเต็มริมฝั่งท่าน้ำ ถนนเรียบนที คือถนนเรียบแม่น้ำท่าจีนจะมีสินค้าวางขายเต็มไปหมดทั้งที่วางขายในร้านและวางขายริมทางโดยเฉพาะของกินจะมีมากมายตั้งติดต่อกันตลอดแนวถนน ผู้คนจะเดินเบียดเสียดกัน บ้าวก็เดินหาซื้อของใช้ อาหารการกิน บางส่วนเตรียมลงเรือ การค้าขายเจริญรุ่งเรืองมาก แม่ค้าข้าวเหนียว เมื่อถึงฤดูมะม่วงสุกจะนึ่งข้าวเหนียววันละเป็นกระสอบ เศรษฐกิจของตลาดสามชุกดีมาก มีธนาคารถึง 7 แห่งเป็นเครื่องยืนยัน

ตลาดสามชุกในปัจจุบันกว่า 100 ปี การคมนาคมทางน้ำลดน้อยลง ความคึกคักจอแจของตลาดสามชุกก็หายไปด้วย ผู้คนเดินเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในตลาดน้อยลง แต่ตลาดสามชุกยังเป็นตลาดไม้ขนาดใหญ่ปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีศิลปะการแกะสลักไม้ที่งดงาม เรียงรายเป็นย่านการค้าที่มีความงดงาม และมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และยังคงทำหน้าที่เป็นตลาดอย่างสมบูรณ์ให้กับชุมชน แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาความทรุดโทรมทางกายภาพไปตามกาลเวลา เมื่อเกิดคณะกรรมการตลาดเชิงอนุรักษ์ขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนไท ตลาดสามชุกได้รับการพัฒนา ในด้านความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการจัดวางสินค้า จัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยให้ประชาชนเป็นส่วนร่วมตลาดสามชุกถูกฟื้นฟู ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นแบบย่างการพัฒนาที่มาจากฐานราก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านอนุรักษ์ของเก่า มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่งดงามรวมทั้งวิถีชีวิตพื้นบ้าน มีทั้งกลุ่ม / องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชนจากต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ นักเขียนวารสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ของเก่า และนักศึกษาด้านการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยด้านต่าง ๆ ได้มาศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง สร้างความรู้สึกภูมิใจในสักยภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับคณะกรรมการและประชาชนชาวสามชุกเป็นอย่างมาก สามชุกเป็นตลาด 100 ปีที่มีคุณค่ามีชีวิตชีวา เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนและคนทั่วไป ชาวสามชุกภูมิใจและจะรักษาไว้ให้นานเท่านานเพื่อตอบแทนสนองพระคุณของบรรพบุรุษที่เป็นรากเหง้าของชาวสามชุก


ข้าวห่อใบบัว " ร้านพี่หรั่ง "

ข้าวห่อใบบัวสูตรดั้งเดิม ปัจจุบันหาทานได้ยากเต็มที คัดสรรข้าวหอมมะลิอย่างพิถีพิถัน พร้อมเครื่องปรุงสูตรดั้งเดิม ร้านนี้อยู่บริเวณ ตลาดถนนเลียบนที อยู่หลังร้านบะหมี่เจ๊กอ้าว ข้าวห่อใบบัว ขายเฉพาะวันอาทิตย์ วันธรรมดา จะขายข้างแกงและอาหารตามสั่ง


“ หยอง ” ทำกระดุมด้วยมือ

ร้านหยองตั้งอยู่เลขที่ 217 หมู่ 2 ซอย 8

ป้าหยองหรือสิริ สรรพคุณานนท์ ( แซ่คู ) อายุ 55 ปี เรียนจบช่างตัดเสื้อผ้า เปิดร้านตัดเสื้อและทำกระดุมมานานพอสมควร ในร้านยังมีจักรเย็บผ้ารุ่นเก่าใช้งานได้อยู่ ในสมัยก่อนกระดุมสำเร็จรูปไม่มี ต้องสั่งทำ คนจึงนิยมทำกระดุมมาก เพราะต้องใช้กระดุมที่เข้ากับชุดได้ เป็นกระดุมที่ลูกคาอยากให้เหมือนกับตัวผ้า ถือเป็นของแพงอีกด้วย และเหตุเพราะร้านทำกระดุมหายาก อาศัยบอกกันปากต่อปาก คนจากต่างถิ่นจึงมาที่ตลาดสามชุก ต่อมาก็รับทำกรอบพระ เลี่ยมทอง เอาข้าวสารมาขายด้วยความที่เป็นคนเก็บของใช้ที่มีความประทับใจ ภายในร้านหยองจึงมีตู้สะสมของเก่าเก็บไว้โชว์หน้าร้านเป็นของที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน และของรักของหวงก็คือ กล้องถ่ายรูปจิ๋วและซออู้ ป้าหยองเป็นคนที่ชอบเล่นดนตรี ยามว่างจากการตัดเย็บสามารถเล่นกีตาร์คลาสสิก

กล้องถ่ายรูปจิ๋วขนาดเล็กมาก กว้าง 4.5 ยาว 6.5 เซนติเมตร ใช้ฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร ซื้อจากร้านศึกษาธิการตลาดซอย 1 สมัยยังเป็นเด็กนักเรียน กล้องราคาร้อยกว่าบาท ซออู้ อายุประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว เพื่อนของป้าหยองนำมะพร้าวซอมาให้ จึงนำไปให้ช่างแกะสลักและทำซอ เป็นกะลาซอตัวผู้ขนาดค่อนข้างใหญาและกรมแป้น ใช้ทำเป็นกะลาซออู้หรือซอสามสาย โดยขูดจนผิวเป็นมันหรือแกะสลักเป็นลวดลายเพื่อความสวยงาม มีคันซอสวมอยู่บนกะลา ด้านหน้าหรือปากกะลาขึงด้วยหนังวัวหรือหนังควาย กะลาซอบางทีเรียกกะโหลกซอ

คูเซ่งฮวด

“ คูเซ่งฮวด ” หรือร้านนายไผ่ เลขที่ 242 หมู่ 2 ซอย 3

เป็นร้านขายของใช้และสินค้าไทย ๆ คูหาตรงข้ามเรียกร้านนายไผ่ ขายพวกถ้วยชาม เครื่องใช้ในครัว ตะเกียงทำด้วยกระป๋องนม ตะเกียงโป๊ะ บัวรดน้ำ โหลแก้วใส่ของขายของมานานหลายสิบปีแล้ว

เจ้าของร้านคือ คุณลุงสุวรรณ คูหาพัฒนกุล อายุ 65 ปี เล่าว่าร้านนี้เปิดตั้งแต่สมัยเตี่ยซึ่งเป็นคนจีน ขายข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่งครัวและอุปกรณ์การเกษตรยังเก็บตะเกียงลาน เตารีดถ่าน รถเข็นไม้ซึ่งเป็นของใช้ในบ้านอยู่ และยังเก็บขวดนมเด็กสมัยก่อนทำจากแก้วเอาไว้อีกด้วย

ร้านกาแฟท่าเรือส่ง

( ศิวะนันต์พานิช ) เลขที่ 1 ซอย 1

ร้านกาแฟท่าเรือส่ง เจ๊ชั่ง ศิวะนันต์วงษ์ อายุ 67 ปี และเจ๊ม่วยเล็ก ศิวะนันต์วงษ์ อายุ 51 ปี เดิมมีร้านกาแฟอยู่ที่ท่าเรือส่งแต่ขายดี ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางเรือเลิกไป จึงมาเปิดขายที่ร้ายของน้องชายคนที่ 3 เปิดร้านก่อสร้างชื่อศิวะนันต์พานิช ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ขายตั้งแต่ราคาสามสตางค์ ห้าสตางค์ ตอนนี้ราคา 7-10 บาท ร้านเปิดตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น วันหนึ่ง ๆ เปลี่ยนคนชงสามกะผลัดกันดูแลร้าน เจ๊ชั่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการชงกาแฟมีความคล่องแคล่วมาก ร้านนี้เป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยของชาวตลาดก็ว่าได้

ร้านนี้พลาดไม่ได้ กาแฟสูตรโบราณ โอเลี้ยง ชาเย็น อร่อยทั้งนั้น ข้อสำคัญร้านนี้คั่วกาแฟเอง สูตรลับเฉพาะคั่วกันเห็นๆบริเวณริมน้ำ บรรยากาศภายในร้าน ท่านจะได้ชมสภากาแฟตัวจริงและวิถีชีวิตชาวตลาดได้เต็มอิ่ม เปิดขายกันตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเย็น

บ้านขุนจำนงจีนารักษ์

ขุนจำนงจีนารักษ์ นามเดิมว่า หุย แซ่เฮง เป็นคนจีนเกิดในประเทศไทย ใกล้วัดโพธิ์คอย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้าและโรงยาฝิ่น เมื่อเยาว์วัยศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศจีน กลับเมืองไทยเมื่ออายุ 20 กว่าปี ต่อมาได้สมรสกับคุณกุ้นเอง แซ่เจ็ง เป็นคน อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี มีบุตรธิดา 3 คน ต่อมาได้เช่าที่ราชพัสดุปลูกบ้าน 3 ชั้นใน พ.ศ. 2459 กิจการค้าขายของท่านเจริญรุ่งเรืองไปถึง 6 อำเภอ ท่านจึงเป็นที่รุ้จักของบุคคลทั่วไป ประกอบกับท่านเป็นคนดี มีเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้เป็นผู้นำชุมชน คุณงามความดีของท่าน ทำให้ท่านได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนจำนงจีนารักษ์ ตำแหน่งกรรมการพิเศษ จ.สุพรรณบุรี นายอากรสุรา - ฝิ่นศักดินา 400 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน พ.ศ. 2474 เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น ท่านจึงหันมาทำสวนทำไร่ และเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2517 รวมอายุได้ 83 บ้านของท่านในส่วนของคุณเคียวยี้ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายโต้วซ้ง จีนารักษ์ อนุญาตให้กรรมการพัฒนาตลาดสามชุก ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์โดยใช้ชื่อ “ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ” ซึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บของโบราณ สำหรับผู้สนใจเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้มาจนถึงปัจจุบันนี้

พิพิธภัณฑ์ตลาดมีชีวิตหรือบ้านพูดได้ นับเป็นสิ่งที่สำคัญมากแห่งหนึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถ ใช้เวลาและความร่วมมือของชาวตลาด นอกจากนั้นยังต้องศึกษาดูงาน การจัดการพิพิธภัณฑ์ตามที่ต่าง ๆ เพื่อจะได้มีความรู้ในการศึกษาของเก่า การบริหารจัดการ การนำเสนอและการวางแผนด้านบริการ การทำ “ บ้านพูดได้ ” เป็นการให้บ้านแต่ละหลังบอกเล่าประวัติเรื่องราวชีวิตของผู้ที่เคยอยู่อาศัยในบ้านผ่านรูปภาพ ข้าวของเครื่องใช้ และของดีที่เจ้าของภูมิใจ คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวตลาดได้ทราบถึงเป้าหมายของโครงการ ในช่วงแรกได้บ้านที่ยินดีเข้าร่วมโครงการจำนวน 22 หลัง โดยตั้งอยู่ในซอยต่าง ๆ ตลาดป้าจู และคณะกรรมการจะนำป้ายบรรยายของแต่ละบ้าน ไปติดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน สำหรับพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงนั้น ต้องพิถีพิถันกันมากในการปรับปรุง โดยจัดหาช่างพื้นบ้านที่มีความชำนาญ ขอคำแนะนำจากอาจารย์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุพรรณบุรี สถาปนิกชุมชน โดยการสนับสนุนมูลนิธิชุมชนไท และผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ของหน่อยศิลปากรประจำจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการจากมูลนิธิชุมชนไท คอยช่วยประสานงานคณะกรรมการทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มความรู้ ความสามารถ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงเป็นอาคาร 3 ชั้น
ชั้นที่ 1 แสดงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสามชุก
ชั้นที่ 2 แสดงเรื่องราวของครอบครัว ขุนจำนง จีนารักษ์
ชั้นที่ 3 จัดเป็นที่ประชุมสัมนา จัดนิทรรศการหมุนเวียนตามความเหมาะสม การทำบ้าน
การทำบ้านพูดได้เป็นการปัดฝุ่นของเก่าที่ถูกซุกซ่อนอยู่ตามหลืบซอกของบ้านต่าง ๆ ในตลาด เป็นการปลูกจิตวิญญาณตลาดผ่านบ้านแต่ละหลังให้ผู้คนในบ้านรู้สึกถึงความสืบเนื่องกับอดีตและความรู้สึกกับอดีต และความรู้สึกภาคภูมิใจในบรรพบุรุษครอบครัวและชุมชนของตน

จาก http://www.pantown.com/group.php?display=content&id=18996&name=content1&area=3



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น